IRIS TEAM BLOGS

เงินเฟ้อ เงินฝืด การฟื้นตัวของเงินเฟ้อ ภาวะเงินเฟ้อลดลง คืออะไร

10 สิงหาคม 66
  
Inflation เงินเฟ้อ คือ ภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เงินเฟ้อ วัดจาก “ดัชนีราคาผู้บริโภค” คำนวณจากราคาสินค้าและบริการ 430 รายการ ครอบคลุมสินค้าและบริการ
7 หมวดได้แก่
1. หมวดอาหารและเครื่องดื่ม
2.หมวดเคหสถาน
3.หมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร
4.หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า
5.หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล
6.หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษา
7.หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์

ในประเทศไทยผู้ที่กำหนดดัชนีราคาผู้บริโภคคือกระทรวงพาณิชย์

เงินเฟ้อกับนโยบายการเงิน โดยทั่วไปธนาคารกลางมักไม่ต้องการให้เงินเฟ้อสูงเกินไป โดยในแต่ละประเทศมีเป้าหมายเงินเฟ้อไม่เท่ากัน เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น หรือประเทศในแถบยุโรป อาจกำหนดเงินเฟ้อไม่เกิน 2% ในขณะที่อินเดียอาจกำหนดเงินเฟ้อที่ 5% เป็นต้น สำหรับประเทศไทย มักกำหนดเงินเฟ้อที่ประมาณ 2% เงินเฟ้อมีผลกระทบกับเศรษฐกิจในหลากหลายมิติ เช่น ผู้บริโภคมักจะรีบซื้อสินค้าในขณะที่สินค้านั้นมีแนวโน้มราคาที่จะสูงขึ้น สิ่งที่ธนาคารกลางจะทำให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับที่เหมาะสมคือการกำหนดนโยบายการเงิน เช่น เงินเฟ้อสูงเกินไปธนาคารจะขึ้นดอกเบี้ยเพื่อกดอุปสงค์มวลรวมของประเทศลงมา เนื่องจากเมื่อดอกเบี้ยแพงผู้บริโภคอาจจะซื้อน้อยลง หรือนักลงทุนอาจจะลงทุนน้อยลง แต่ถ้าเงินเฟ้อต่ำ ธนาคารกลางจะลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคใช้จ่ายมากขึ้น หรือว่าธุรกิจลงทุนได้ง่ายขึ้น


สรุปคือ เงินเฟ้อต้องไม่เกินเป้าหมายที่ธนาคารกลางของแต่ประเทศกำหนดไว้ หากสูงหรือต่ำเกินไปจะมีมาตรการต่างๆ ออกมาเพื่อปรับเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับเป้าหมายที่วางไว้



Deflation เงินฝืด คือ ภาวะที่ตรงข้ามกับเงินเฟ้อ เป็นภาวะที่ราคาสินค้าและบริการส่วนใหญ่ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยอิงจากดัชนีราคาผู้บริโภคว่ามีการลดลงอย่างต่อเนื่องเท่าไรเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา ธนาคารกลางของแต่ละประเทศอาจมีคำนิยามชัดเจนว่าภาวะเงินฝืดต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง เช่น ประเทศในยุโรปดัชนีราคาผู้บริโภคต้องติดลบติดต่อกันนาน 6 เดือน เป็นต้น ภาวะเงินฝืดมักจะเกิดในช่วงเศรษฐกิจถดถอย เนื่องจากผู้บริโภคไม่มีกำลังในการซื้อสินค้าและบริการ เมื่อไม่มีกำลังซื้อสินค้า ตลาดก็จะลดราคาเมื่อราคาสินค้าลดลงมากขึ้น ผู้ผลิตอาจต้องลดอัตราการผลิตลงซึ่งอาจส่งผลกระทบถึงการจ้างงาน เป็นต้น

เมื่อเกิดภาวะเงินฝืด รัฐบาลมักจะมีนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลาย เช่น นโยบายการคลังอาจจะออกมาตรการลดค่าน้ำค่าไฟ ส่วนนโยบายการเงินจากธนาคารกลางมักจะลดดอกเบี้ย เป็นต้น




Reflation การฟื้นตัวของเงินเฟ้อ

การฟื้นตัวของเงินเฟ้อ มักจะเกิดในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำมากๆ รัฐบาลจะใช้นโยบายการคลัง ธนาคารกลางใช้นโยบายการเงินเพื่อทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนมากขึ้น โดยมีเป้าหมายคือให้ดัชนีราคาผู้บริโภคขยับขึ้น ในเชิงนโยบายการเงินในช่วงที่เงินเฟ้อขยับขึ้น ธนาคารจะยังไม่ขึ้นดอกเบี้ย เพราะว่าเงินเฟ้อขยับขึ้นแต่ยังต่ำกว่าเป้าหมาย เช่น ดัชนีราคาผู้บริโภคขยับขึ้นจาก -1.1% เป็น 0.75% แต่ดัชนีราคาผู้บริโภคเป้าหมายคือ 1-3% ดังนั้นหากการฟื้นตัวของเงินเฟ้อยังไม่ถึงเป้าหมายธนาคารกลางจะยังคงนโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายคือยังจะไม่มีการขึ้นดอกเบี้ยเป็นต้น




Disinflation ภาวะเงินเฟ้อลดลง

ภาวะเงินเฟ้อลดลงแต่ยังไม่ติดลบ มักจะเกิดในช่วงที่เศรษฐกิจดีมากๆ ธนาคารกลางจึงขึ้นดอกเบี้ยเพื่อให้อุปสงค์มวลรวมในประเทศลดลง เงินเฟ้อจึงลดลงแต่ยังไม่ติดลบ เช่น ถ้าอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 2% เดือนต่อมาลดลงเหลือ 1.75% และ 1.5 % เหลือ 1.2% แต่ยังไปถึงขึ้นติดลบ เป็นต้น




สนใจเปิดบัญชีลงทุนกับ บล.กรุงศรี จำกัด (มหาชน) คลิกที่นี่