IRIS TEAM BLOGS

การวิเคราะห์แนวโน้มราคา (Trend) : เทคนิคหาจังหวะในการซื้อ-ขาย และตัดขาดทุน

22 กันยายน 58




      หลายคนที่เพิ่งเริ่มเข้ามาลงทุนในหุ้น คงกำลังมองหาเครื่องมือที่จะช่วยวิเคราะห์ราคาหุ้นว่าเราจะสามารถเข้าซื้อได้ในช่วงราคาใด หรือหุ้นที่เราถืออยู่มีโอกาสที่ราคาจะสูงขึ้นไหม หรือเราควรจะถือหุ้นนี้ต่อไปไหม ซึ่งวันนี้เราจะมาพูดถึงอีกหนึ่งเทคนิคที่ช่วยให้นักลงทุนสามารถหาจังหวะในการซื้อ จังหวะขาย และจังหวะตัดขาดทุนได้ง่ายขึ้น นั่นก็คือการวิเคราะห์แนวโน้มราคา (Trend)  ซึ่งแนวโน้มราคานี้มีผลมาจากแรงซื้อ แรงขาย  โดยปัจจัยพื้นฐานของบริษัท ข่าวลือต่างๆ อารมณ์และพฤติกรรมของนักลงทุนเหล่านี้ ทำให้เกิดแรงซื้อ แรงขาย ซึ่งส่งผลต่อแนวโน้มราคาหุ้นนั่นเอง  หลักๆ แล้วเราแบ่งแนวโน้มราคา เป็น 3 ประเภทด้วยกัน คือ


• แนวโน้มขาขึ้น (Uptrend)

buy sell signal
คือ การที่ราคาปรับตัวแต่ละครั้งทำยอดสูงใหม่ที่สูงกว่ายอดสูงเดิม เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่ามีการเปลี่ยนแนวโน้ม ยกตัวอย่างเช่น หุ้น A ราคาอยู่ที่ 5 บาท ปรับตัวขึ้นไปที่ 10 บาท ปรับลงมา 7 บาท กลับขึ้นไปที่ 12 บาท เป็นต้น จะเห็นได้ว่ายอดราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ จาก 10 บาท ไป 12 บาท อย่างนี้เรียกว่า หุ้นที่มีแนวโน้มขาขึ้น


• แนวโน้มขาลง (Downtrend)


buy sell signal
คือ ราคาปรับตัวแต่ละครั้งทำยอดสูงใหม่ต่ำกว่ายอดสูงเดิม ขณะเดียวกันยอดต่ำใหม่ก็ต่ำกว่ายอดต่ำเดิม เช่น หุ้น B ราคาปรับขึ้นไป 20 บาท ลดลงมา 10 บาท กลับขึ้นไปที่ 15 บาท ปรับลงมาที่ 7 บาท จะเห็นว่ายอดราคาต่ำจากเดิม 20 บาท ลดลงเป็น 15 บาท และยอดต่ำก็ต่ำลง จาก 10 บาท ลงมา 7 บาท เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแนวโน้ม อย่างนี้เรียกว่า หุ้นที่มีแนวโน้มขาลง


• แนวโน้มแกว่งตัว (Sideway)

buy sell signal
คือ ราคาปรับตัวขึ้นแต่ละครั้งทำยอดสูงใหม่พอๆ กับยอดสูงเดิม ขณะเดียวกันการปรับตัวลงแต่ละครั้งราคายอดต่ำใหม่ใกล้เครียงหรือเท่ากับยอดต่ำเดิม เป็นเช่นนี้จนกว่ามีราคาผ่านทะลุด้านใดด้านหนึ่งระหว่างยอดสูง หรือยอดต่ำใหม่ จึงจะมีภาพของการเปลี่ยนแนวโน้ม เช่น หุ้น C ราคาจาก 5บาท ปรับขึ้นไป 10 บาท ลงมา 5 บาทใหม่ แล้วกลับขึ้นไป 10 บาท ราคาขึ้นๆ ลงๆ อย่างนี้ไปจนกว่าจะมีภาพการเปลี่ยนแนวโน้ม อย่างนี้เรียกว่า หุ้นที่มีแนวโน้มแกว่งตัว
พอจะเข้าใจแนวโน้มของราคาหุ้นกันไปแล้ว แต่ก่อนที่เราจะลงทุนในหุ้น เราต้องมาสร้าง Trading rule หรือ กฏการเทรด ซึ่งแต่ละคนจะมี Trading rule แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงที่ตัวเองรับได้ บางคนยอมรับความเสี่ยงของการตัดขาดทุน หรือจุดตัดขาดทุน (Stop loss) ไว้ที่ระดับ 2% เช่น ลงทุนในหุ้น A 100,000 บาท ยอมรับการขาดทุนได้ 2,000 บาท ถ้าขาดทุนเกินกว่านี้จะทำการขายทิ้ง หรือ Cut loss ทันที เป็นต้น ซึ่งนักลงทุนทุกคนควรจะมีจุดตัดขาดทุน (Stop loss) เพื่อประสิทธิภาพในการบริหารความเสี่ยงของพอร์ต เมื่อเรามีจุด Stop loss แล้ว หลังจากนี้เราก็มาดูว่าเรากำลังจะเข้าไป หรืออยู่ในหุ้นที่มีแนวโน้มราคาเป็นแบบไหน ควรจะถือต่อไป หรือถึงเวลาที่เราต้อง Cut loss แล้ว ซึ่งในสัปดาห์หน้าเราจะมาเรียนรู้วิธีการหาจังหวะซื้อ จังหวะขายกันครับ
เขียนโดย คณฆัส  จิรเสวีนุประพันธ์