สำหรับกองทุนลดหย่อนภาษีอย่าง SSF และ RMF นั้น มีความเหมือนกันอยู่หลายจุด แต่ก็มีความแตกต่างกันในบางเงื่อนไข เพื่อนๆลองอ่านเพิ่มเติมที่บทความนี้ก่อนนะครับ คลิกที่นี่
เอาล่ะ หลังจากทราบความเหมือนความต่างของทั้ง 2 กองทุนไปแล้ว แต่ก็ยังไม่มีไอเดียอยู่ดีว่าสรุปแล้วควรจะเลือกแบบไหน เดี๋ยวเราค่อยๆเอาความแตกต่างเล็กๆน้อยๆเหล่านั้น มาเลือก mix & match ให้เข้ากับคุณมากที่สุดกันครับ
1. วงเงินสำหรับลดหย่อนภาษี
เช็ควงเงินกันก่อน ว่าเราลดหย่อนภาษีด้วยอะไรไปแล้วบ้าง
นับรวม SSF, RMF, PVD, ประกันชีวิตแบบบำนาญ, กบข, กอช., กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน
แล้วไม่เกิน 500,000 บาท
2. อายุและเป้าหมายในการลงทุน
เมื่อรู้แล้วว่าเหลือวงเงินให้ลดหย่อนได้อีกเท่าไหร่ ขั้นตอนถัดมาลองตรวจสอบอายุของคุณ เพราะ SSF และ RMF มีเงื่อนไขการถือครอง และการขายคืนไม่เหมือนกัน
- กองทุนรวม SSF ขายได้เมื่อถือครองครบ 10 ปีบริบูรณ์ เช่นก้อนที่ท่านซื้อ วันที่ 1 พ.ย. 2022
ก็จะขายได้ตั้งแต่ 2 พ.ย. 2032 เป็นต้นไป ก้อนไหนลงทุนก่อนก็ขายได้เร็วกว่าก้อนที่ลงทุนถัดๆไป
- กองทุนรวม RMF จะขายได้ก็ต่อเมื่อครบเงื่อนไข 2 ข้อ ได้แก่
- อายุครบ 55 ปีบริบูรณ์แล้ว
- มีการลงทุนติดต่อมาไม่น้อยกว่า 5 ครั้ง นับตั้งแต่การซื้อครั้งแรก
ตัวอย่างที่ 1 : อายุ 51 ปี อาจเหมาะกับ RMF มากกว่า SSF เพราะลงทุนติดต่อกัน 5 ครั้ง จะชนกับอายุครบ 55 ปี พอดี จึงทำให้สามารถขายคืนได้โดยไม่ผิดเงื่อนไข แต่ถ้าคุณซื้อ SSF ก็ต้องถือไป 10 ปีเต็ม ทำให้ขายคืนได้ช้ากว่า
ตัวอย่างที่ 2 : อายุ 30-40 ปี เหมาะทั้ง SSF และ RMF แต่คนละมุมกัน แล้วแต่วัตถุประสงค์ เช่น ถ้าลงทุนใน SSF ถือครองเพียง 10 ปี ก็ขายออกได้ ก็จะไวกว่าลงทุนใน RMF เหมาะสำหรับคนที่เน้นลดหย่อนภาษีเป็นหลัก โดยเหมือนได้เก็บเงินไปลงทุนไว้ช่วงนึงเป็นของแถม เพราะถ้า RMF จะต้องซื้อไปทุกปี เว้นได้มากสุดปีเว้นปี จนกว่าจะอายุ 55 ปี ถึงจะขายออกได้ ซึ่ง RMF ก็จะตอบโจทย์คนที่เน้นการเก็บเงินเพื่อการเกษียณมากกว่า เพราะถูกบังคับด้วยระยะเวลาลงทุนที่ยาวกว่า ซึ่งมีโอกาสที่จะช่วยลดความผันผวนพร้อมเปิดโอกาสรับผลตอบแทนที่มากขึ้นได้ ดังนั้นบางท่านอาจจะเลือกลงทุนไปในกองประเภทใดประเภทหนึ่งจนครบวงเงิน หรือจะเลือกแบ่งลงทั้ง 2 ประเภท ก็ได้เช่นกันครับ เพราอย่าลืมว่าถึงกองทุน SSF, RMF จะเข้าเกณฑ์ขายออกได้ แต่เราจะเลือกถือต่อไปก็ได้ไม่มีปัญหาครับ
3. นโยบายการลงทุนและความเสี่ยง
เมื่อรู้ทั้งวงเงิน และเปรียบเทียบอายุและเป้าหมายของตัวเองแล้ว ก็จะเหลืออีก checklist ที่สำคัญมากๆ คือการดูที่นโยบายการลงทุนที่เราสนใจมากที่สุด ทั้ง SSF และ RMF แต่ละกองมีนโยบายการลงทุนที่แตกต่างกันออกไป และจะส่งผลถึงความเสี่ยงและโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่แตกต่างกันตามไปด้วย ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับบลจ.ว่าจะออกกองทุนแบบไหนมาให้เราได้เลือกช็อป
กองทุนรวมแบ่งออกเป็นทั้งหมด 8 ประเภทตามลำดับความเสี่ยงจากน้อยไปหามาก
ความเสี่ยงระดับที่ 1 กองทุนรวมตลาดเงินที่ลงทุนเฉพาะในประเทศ
ความเสี่ยงระดับที่ 2 กองทุนรวมตลาดเงิน
ความเสี่ยงระดับที่ 3 กองทุนรวมพันธบัตรรัฐบาล
ความเสี่ยงระดับที่ 4 กองทุนรวมตราสารหนี้
ความเสี่ยงระดับที่ 5 กองทุนรวมผสม
ความเสี่ยงระดับที่ 6 กองทุนรวมตราสารทุน
ความเสี่ยงระดับที่ 7 กองทุนรวมหมวดอุตสาหกรรม
ความเสี่ยงระดับที่ 8 กองทุนที่มีการลงทุนในทรัพย์สินทางเลือก
ดังนั้นคุณจึงสามารถที่จะวางแผนจัดสัดส่วนพอร์ต SSF/RMF ของคุณได้ด้วยโดยการเลือกลงทุนในกองทุนที่เรามีความรู้ความเข้าใจ เหมาะกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
บทความอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
1. หากไม่ได้ลดหย่อน แต่ละปีคุณต้องเสียภาษีเท่าไหร่กันนะ